2556-12-18

ข้อควรระวังในการเลี้ยงไก่พม่าหน้าฝน

      การเลี้ยงไก่พม่าหน้าฝนท่านจะต้องระมัดระวังให้มากกว่าปกติ โดยเฉพาะพม่าเลือดร้อย เพราะหน้านี้สภาพของไก่จะเริ่มมีเคลื่อน หลุดและถ่ายขน ถ้าไก่เริ่มเคลื่อนหรือหลุดจะมีปัญหากับไก่คือ
      1.ไก่จะบินไม่ดีบินไม่ร่อนสังเกตตรงโคนปีกด้านในจะมีรอยเคลื่อนออกมาเป็นเปาะใสๆ ถ้าเคลื่อนมากแสดงว่าใกล้หลุด บางตัวเคลื่อนปีกสองปีกแสดงว่ากำลังถ่ายแซม บางตัวเคลื่อนทุกเส้นแสดงว่าจะถ่ายใหญ่ไก่ถ่ายแซมพอเลี้ยงได้ต้องสังเกตเป็นตัวๆไป ไก่ถ่ายใหญ่ควรปล่อยตามธรรมชาติรอขนใหม่ขึ้นก่อนครับ ถ้าไก่ของท่านบินหล่นๆโปรดสังเกตให้ดีครับ
      2.ไก่จะมีน้ำขนแห้งไม่มันวาวเหมือนช่วงต้นหนาว ซึ่งแสดงว่าไก่หมดความสมบูรณ์ในตัว ไขมันที่สะสมไว้ในร่างกายเริ่มหมดจำเป็นต้องสะสมไขมันใหม่ในช่วงฤดูฝนโดยหากินมดแมงตามธรรมชาติ ถ้าไก่ขนหมดมันไก่จะหมดแรงง่าย
      3.ไก่จะไม่สู้ไก่นะครับ พวกพม่าเลือดร้อยตอนนี้เริ่มเลือกตัวสู้ แสดงว่ามันรู้ตัวเองดีว่าร่างกายไม่สมบูรณ์มันอยากพักผ่อนแล้วครับ อย่าบังคับเลี้ยงเด็ดขาด มันชอบเดินหนีเมื่ออยู่ในสังเวียนครับ บางท่านไม่สังเกตไก่ยังเลี้ยงเอาไปชนผลคือแพ้ครับเป็นต่อก็เดินหนีเฉยเลย นี่ธรรมชาติไก่พม่าครับ
      คนเลี้ยงพม่าภาคเหนือ คนโบราณจริงเขาจะปล่อยเลยครับตอนแรกผมไปเจอก็งงว่าทำไมไก่ไม่ตีกัน พอถามเขาก็พบว่าไก่พม่าหน้าฝนมันไม่สู้กันครับปล่อยรวมฝูงได้ ดังนั้นช่วงนี้ใครเลี้ยงพม่าเลือดสูงๆระวังหน่อยครับ

2556-12-17

การผสมแบบไคลแมกซ์

      มีการพูดถึงเรื่องการผสมแบบไคลแมกซ์สำหรับไก่กันเยอะมากมาย เลยถือโอกาสนี้นำเสนอสาระและวิธีการพอให้เข้าใจครับ คือปกติคนผสมไก่มักจะใช้ 2 วิธีหลักๆในการผสมคือ
      1.ปล่อยตัวผู้ตัวเมียอยู่ด้วยกันตามธรรมชาติในสถานที่กว้างๆ มีต้นไม้ใบหญ้าให้ได้กิน ไก่จะผสมกันตลอดทั้งวันมีความสมบูรณ์ในการผสมมากที่สุดเป็นธรรมชาติที่สุด ไก่ไม่มีความเครียดไม่มีความกดดันเปรียบดั่งการไปฮันนีมูน
     2.ปล่อยผสมพันธุ์ในพื้นที่จำกัด โยการขังรวมกันระหว่างตัวผู้กับตัวเมีย แบบนี้ค่อนข้างบีบบังคับกันหน่อย เปรียบดังให้สามีภรรยาอยู่บ้านเดียวกันโดยไม่มีการเปลี่ยนบรรยากาศอะไรทำนองนั้นนะครับ  ไก่จะมีความเครียดการผสมพันธุ์จะน้อย คุณภาพจะต่ำ
      ส่วนการผสมแบบไคลแมกซ์นั้นเป็นการผสมโดยปล่อยหรือขังตัวเมียแยกจากกัน มีวิธีที่นิยมดังนี้ครับ
      1.ขังตัวเมียไว้คนละตาข่ายให้มองเห็นกันตลอด ปล่อยผสมกันวันละครั้งในตอนเย็นหรือตอนเช้า แบบนี้จะทำให้ไก่มีความต้องการผสมพันธุ์กันมากครับ
      2.แบบปล่อยตัวเมียให้หากินอย่างอิสระ ขังตัวผู้ไว้หมดนะครับแต่ให้มองเห็นกันตลอด ตอนเช้า ตอนเย็นค่อยปล่อยผสมกันวันละครั้งครับ แบบนี้แม่พันธุ์จะสมบูรณ์ดีครับ

การทำม้าล่อให้นิ่งด้วยการเล่นไลน์บรีดพัฒนาออกสู่สังเวียนเลือด

   ความตั้งใจของนักบรีดเดอร์สายพันธุ์สัตว์ทุกคนล้วนแล้วแต่อยากประสบความสำเร็จในการพัฒนาสายพันธุ์ของสัตว์ขึ้นมาใหม่ที่คนทั่วไปให้การยอมรับ เช่นม้าแข่งที่วิ่งได้รวดเร็ว หมูที่โตไวให้เนื้อมากขึ้น นกเขาที่ขันเพราะขึ้น หมาที่สวยขึ้น ไม่เว้นแม้แต่ไก่ชนที่นักบรีดเดอร์ต้องการที่จะทำให้ไก่ของตนเก่งขึ้น ที่สำคัญนอกจากจะทำให้ไก่ของตนเก่งขึ้นแล้วจะต้องมีสายเลือดที่นิ่งพอสมควรเปอร์เซ็นต์การถ่ายทอดความเก่งกาจจากรุ่นสู่รุ่นจะต้องมีสูงหรือพวกเราชาวไก่ชนเรียกกันว่าการ "ลงเหล่า" และที่สำคัญมากขึ้นไปอีกขั้นนอกจากความเก่งความนิ่งในสายเลือดแล้วเหล่าทีททำขึ้นมาได้จะต้องคงอยู่พัฒนาต่อยอดขึ้นไปเรื่อยๆไม่ใช่เก่งเพียงแค่ 3-4 รุ่นจากนั้นก็หาย   แล้วเราจะผสมจะบรีดสายพันธุ์ของไก่ชนพม่าม้าล่อกันอย่างไรถึงจะทำให้สายเลือดนิ่งถ่ายทอดพันธุกรรมม้าล่อสู่รุ่นลูกรุ่นหลานได้อย่างยาวนาน  วิธีการที่พัฒนาให้นิ่งหรือทำลูกไก่ให้เกิดมาเป็นม้าล่อมากที่สุดหลักๆก็มีการผสมอยู่ 2 วิธี คือ การผสมแบบในครอบครัวเดียวกันหรือเรียกว่าการอินบรีด  พูดให้เข้าใจง่ายๆได้ว่าพ่อผสมลูก ลูกผสมแม่ ลูกกับลูกผสมกันเอง วิธีการอินบรีดหรือการผสมแบบเลือดชิดเพื่อต้องการคงสายพันธุ์ให้ไดเร็วที่สุดมันเหมือนกับดาบสองคมถ้าได้ตัวดีทั้งลักษณะเชิงชนรูปร่างหน้าตาจะคล้ายกับตัวพ่อมาก ความเก่งก็อาจจะเก่งกว่าด้วยซ้ำ และใช้เวลาในการทำไม่นานจากรุ่นหนึ่งมาสู่รุ่นสองก็ทำได้แล้วแต่การผสมอย่างนี้ข้อเสียก็มีมากไม่ใช่น้อยเลย คำว่าเลือดชิดก็บอกได้เป็นอย่างดีอยู่แล้ว โอกาสที่ลูกไก่จะเกิดมามีลักษณะด้อยจะเยอะมากทั้งแคระแกร็น พิการ ไม่แข็งแรง ไม่เก่ง เลี้ยงยาก ดังนั้นวิธีการอินบรีดผสมแบบเลือดชิดจึงไม่เป็นที่นิยมเพราะความเสี่ยงมีสูง ส่วนถ้าท่านใดอยากจะลองทำดูก็สามารถทดลองได้ แต่อย่าไปทำเยอะทดลองเพียง 2-3 แม่ก็พอ อีกวิธีหึ่งนั้นก็คือ การผสมแบบไลน์บรีดเป็นการผสมแบบในตระกูลเดียวกันเพื่อให้ได้สายเลือดของพ่อแม่พันธุ์ที่ตั้งต้นอยู่ในตัวลูกไก่แต่ละรุ่นให้เยอะที่สุดโดยที่จะไม่เกิดการเลือดชิด แล้วเราจะไลน์บรีดม้าล่อกันอย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ  ประการแรกท่านต้องมีใจรักและมีความอดทนสูงเพราะต้องใช้เวลาพอสมควร
    หลักการผสมม้าล่อแบบไลน์บรีดสามารถทำได้กันทุกคนแต่ขั้นแรกท่านต้องมีสายพันธุ์ตั้งต้นที่มีความนิ่งในสายเลือดสูง(ต้องมีพม่าม้าล่อเลือดร้อยเป็นพ่อพันธุ์ตั้งต้น) แล้วเราจะทำการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อให้ได้ลูกไก่ท่ออกมาเป็นม้าล่อเหมือนกับตัวพ่อให้มากที่สุดหรือเก่งกว่า ดีกว่าไปเลย
    ขั้นแรก ต้องทำการตั้งสายในการผสมก่อนโดยให้พ่อพันธุ์พม่าม้าล่อ 2 ตัวนี้ เป็นไก่ที่เกิดจากพ่อพม่าม้าล่อตัวเดียวกันแต่คนละแม่และแม่ต้องคนละเหล่าด้วย จากนั้นเราต้องหาแม่พันธุ์มาเข้ากับพ่อพันธุ์ทั้ง 2 ตัวโดยใช้พ่อพันธุ์ 1 ตัวกับแม่พันธุ์ 4 ตัวหรือใครอาจจะใช้ 2-3 ตัวก็ได้แต่มันจะมีทางให้เล่นน้อยเกินไปเอาเป็นว่าแนะนำให้ใช้ตัวเมีย 4 ตัวจะดีที่สุด ดังนั้นเราก็จะได้สายตั้งต้นเป็น 2 สาย สายแรกพ่อตัวที่ 1 สายที่ 2 พ่อตัวที่ 2  แต่อย่าลืมว่าตัวเมียทั้ง 8 ตัวที่เราหามาต้องเป็นไก่คนละเหล่ากัน ป้องกันการเกิดเลือดชิด ตัวเมียต้องเป็นไก่สายเลือดที่นิ่งด้วย ห้ามนำตัวเมียที่เก่งเฉพาะตัวหรือเป็นม้าล่อเฉพาะตัวมาผสมเด็ดขาด มันจะทำให้การบีบสายเลือดให้นิ่งนั้นทำได้ยาก ถ้าตัวเมียพม่าม้าล่อลูกร้อยหายากก็อนุโลมให้ใช้ไก่ที่มีลีลาถอยจัดๆออกซ้ายทีขวาทีมาผสมแทนได้เหมือนเดิมคือไม่ว่าจะเป็นตัวเมียม้าล่อหรือตัวเมียถอยจัดมันจะต้องมาจากเหล่าที่ถอยที่ล่อจริงๆเท่านั้น ตัวเมียเลือดต้องนิ่ง เมื่อมีทั้งตัวผู้ตัวเมียครบแล้วก็นำเข้าผสมพันธุ์ได้เลย
     เป้าหมายการผสมก็เพื่อต้องการให้ได้ลูกไก่ออกมาเก่งเหมือนพ่อ ลูกไก่รุ่นที่ 1 ที่เกิดจากการผสมครั้งนี้มันจะมีสายเลือดของพันธุกรรมม้าล่ออยู่ในตัว ถ้าคิดตามทฤษฎีประมาณ 50%ให้ทำการคัดลูกไก่ที่เกิดจากการผสมในครั้งนี้โดยคัดเอาตัวที่ดีที่สุดหรือชอบที่สุดเอาไว้ บางตัวออกมาก็เป็นม้าล่อเลย บางตัวออกมาก็ไม่เป็นม้าล่อก็มีหรือออกมาทั้งรุ่นไม่เป็นม้าล่อเลยสักตัวก็อาจเป็นได้ดังนั้นนอกจากจะคัดเอาตัวที่เป็นม้าล่อไว้แล้วตัวที่ถอยจัดๆแผลดีๆก็ควรจะเก็บเอาไว้เช่นกันเพราะถึงแม้ชั้นเชิงม้าล่อมันยังไม่แสดงออกมาแต่มันก็มีเลือดของม้าล่อแฝงอยู่ในตัว เราสามารถดึงมันออกมาในรุ่นต่อไปได้
     เมื่่อเราคัดได้แล้วก็นำลูกไก่มาผสมไขว้กันโดยนำลูกจากพ่อตัวที่ 1 มาผสมกับลูกจากพ่อตัวที่ 2 ลูกไก่ที่เกิดมารุ่นที่ 2 นี้จะมีสายเลือดของม้าล่อเข้มข้นขึ้นโดยที่เลือดไม่ชิดเพราะเราใช้ตัวเมียคนละเหล่ากัน จากนั้นรุ่นที่ 3 ที่จะผสมต่อไปให้ท่านหาพ่อไก่หรือแม่ไก่ที่เป็นม้าล่อเลือดนิ่งจากสายอื่นเข้ามาเสียบ เราก็จะได้ลูกไก่รุ่นที่ 3 ออกมาคราวนี้เราสามารถนำไก่รุ่นที่ 3 กลับขึ้นไปผสมกับลูกไก่รุ่นที่ 1 ได้เลยและนำลูกไก่รุนที่ 3 ไปผสมกับพ่อพันธุ์ตั้งต้นทั้งตัวที่ 1 และตัวที่ 2 ด้วยเลยก็ได้ และจะดีมากๆเลยทีเดียวแต่มีข้อแม้ว่าต้องดูสายเลือดให้ดีและพ่อไก่ก็ต้องไม่ตายไปเสียก่อนด้วยเราก็จะได้ลูกไก่รุ่นที่ 4 กลับขึ้นไปผสมกับลูกไก่รุ่นที่ 2 ทำอย่างนี้ไปเรื่อยๆรับรองท่านจะมีเหล่าม้าล่อเป็นของตัวเองแน่นอน
       หลักสำคัญของการไลน์บรีด คือ เราจะต้องเน้นสายเลือดลูกไก่ที่นำมาผสมกันจะต้องไม่มีเลือดพ่อเลือดแม่เดียวกันเกิน 50%เพราะเลือดมันจะชิด เมื่อเราผสมจนเลือดใกล้กันมากก็ให้นำพม่าม้าล่อที่เป็นสายพันธุ์อื่นที่เลือดนิ่งเข้ามาผ่าป้องกันเลือดชิดแล้วถึงนำลูกไก่ที่ได้กลับมาผสมกับเหล่าเดิม แค่นี้เราก็สามารถเล่นสายพันธุ์ได้ต่อไปเรื่อยๆ ความเป็นพม่าม้าล่อจะมีอยู่ในตัวลูกไก่อย่างเข้มข้นและเก่งไม่แพ้บรรพบุรุษแน่นอน
      ใครที่มีความตั้งใจ ความหมั่นเพียร อดทน ก็จะก้าวไปถึงจุดนั้นได้อย่างแน่นอน...อย่างน้อยรับรองได้เลยว่าใช้เวลาอย่างต่ำ 3-4 ปีอย่างแน่นอนแต่ผลที่ได้มันคุ้มค่ากว่าเวลาที่เสียไปมากมายนัก