2555-05-07

การแก้อาการหอบหืดในไก่ชนแบบโบราณและปัจจุบัน

         คนเลี้ยงไก่รุ่นใหม่เวลานำไก่ไปตีถ้าไก่มีอาการหอบมากๆ ส่วนใหญ่จะลงความเห็นว่ากราดแดดไก่น้อยไปบ้าง กราดแดดยังไม่ถึงบ้าง ก็แล้วแต่แง่คิดกันไป แต่ก็ยังมีปัจจัยอีกอย่างหนึ่งจากการวิเคราะห์และเฝ้าสังเกตซึ่งทำให้ไก่หอบมากขึ้นได้แก่ อุณหภูมิอากาศสูง อุณหภูมิของร่างกายไก่สูง การเผาผลาญพลังงานมากขึ้น ออกซิเจนในเลือดน้อย ปอดเล็ก โครงสร้างร่างกายบอบบาง(กรรมพันธุ์)ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักพื้นฐานอาการหอบของไก่ก่อนนะครับ
         เมื่อไก่ออกกำลังหรือชนอยู่นั้นอุณหภูมิของร่างกายไก่ก็จะสูงขึ้นเนื่องจากไก่ต้องการพลังงานมาใช้ซึ่งขบวนการเผาผลาญพลังงานก็ยิ่งมากขึ้นและยิ่งใช้แรงใช้กำลังมากขึ้นก็ยิ่งเร่งให้มีการเผาผลาญพลังงานมากขึ้นอีกเมื่อเผาผลาญพลังงานมากก็ต้องใช้ออกซิเจนมากขึ้นซึ่งการเติมออกซิเจนก็มาจากการหายใจเข้าปอดแล้วฟอกเลือดเสียให้เป็นเลือดดีนั่นเองโดยตัวที่นำออกซิเจนไปใช้ในการเผาผลาญพลังงานที่เซลก็คือเม็ดเลือดแดง(ฮีโมโกลบิน)ซึ่งขบวนการนำออกซิเจนมาฟอกก็ขึ้นอยู่กับขนาดของปอด ถ้าปอดใหญ่ก็มีพื้นที่ฟอกเลือดแล้วเติมออกซิเจนได้ดีกว่าปอดเล็ก รวมทั้งเม็ดเลือดแดงถ้ามีในไก่มากก็จะรับออกซิเจนได้มากด้วยซึ่งตัวผลิตเม็ดเลือดก็มาจากไขกระดูกถ้าโครงสร้างกระดูกใหญ่ก็ผลิตได้มาก นอกจากนั้นระบบหลอดลมก็มีส่วนเช่นกันหากหลอดลมเล็ก มีการอุดตัน (คอดอก) การหายใจเอาออกซิเจนลำบาก ไก่ก็จะพยายามอ้าปากหายใจมากขึ้นการหอบก็มากขึ้นจะเห็นว่าอาการหอบนั้นก็มีหลายปัจจัยร่วมกันยิ่งลักษณะการชนของไก่เชิง ไก่ไทยแล้วก็ใช้แรงเยอะอาการหอบก็ยิ่งมากขึ้นเพราะต้องใช้แรงบด แรงบี้ เท่าที่สังเกตหากไก่มีอาการหอบมากๆในยกแรกพอยกต่อไปมักไม่ค่อยตี หรือบางตัวหอบมากๆก่อนหมดยกเป็นอันหนีก่อนซึ่งพบเห็นบ่อยตามสนามโดยเฉพาะไก่ที่ตีในหน้าร้อน ไก่พวกม้าล่อที่พาวิ่งมันก็อาจใช้จุดเด่นที่มันมีปอดใหญ่แล้วพาคู่ต่อสู้วิ่งจนหอบและหมดแรงก่อนแล้วค่อยหันมาตีก็เป็นความฉลาดของไก่สายนี้แต่บางทีก็มีบ้างที่ประเมินคู่ต่อสู้ผิดไปเพราะตัวเองก็หมดแรงก่อนวิ่งไม่ไหวต้องยอมให้คู่ต่อสู้จับเตะได้
         วิธีแก้ไขเรื่องอาการหอบของไก่นั้นไม่สามารถบอกได้หมดต้องสังเกตดูเป็นตัวๆไปว่าสาเหตุที่หอบมาจากสาเหตุอะไรบ้าง เช่น
         สายพันธุ์ ไก่ที่หอบมากๆไม่ควรนำมาทำพ่อแม่พันธุ์ นั่นแสดงให้เห็นว่าไก่ปอดเล็ก โครงสร้างกระดูกบอบบาง เท่าที่สังเกตไก่ไซง่อน ไก่พม่าจะหอบน้อยกว่าไก่ไทยอาจเป็นเพราะไก่เหล่านั้นมาจากแหล่งกำเนิดที่เป็นพื้นที่สูง การพัฒนาเรื่องปอดจะดีกว่าไก่พื้นที่ต่ำเพราะอากาศในพื้นที่สูงจะมีออกซิเจนน้อยเบาบาง การฟิตซ้อมที่ดีทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรง ปอดขยายใหญ่ อาการหอบก็จะน้อยลง
         การกราดแดด เป็นการฝึกให้ไก่ทนอากาศร้อนเพราะอากาศร้อนทำให้การเผาผลาญพลังงานสูงขึ้น อาการหอบก็จะมากขึ้นจึงต้องฝึกไก่ให้สามารถทนร้อนได้แต่ขอบอกว่าการกราดแดดเพื่อลดน้ำหนักไก่นั้นไม่ควรทำแต่ควรเน้นการออกกำลังกายให้มากขึ้น และข้อควรระวังอีกอย่างหนึ่งคือระวังอย่าให้ไก่น็อคแดดเพราะจะทำให้เสียไก่ไปเลย ถ้าเป็นไก่พม่าหรือไก่ไซง่อนรวมทั้งพม่า-ง่อน กราดแดดแค่พอตัวแห้งก็เพียงพอแล้ว
         วิตามิน การเสริมวิตามินบีให้ไก่ชนกินตลอดการเลี้ยงซึ่งมีทั้งที่เป็นน้ำและเป็นเม็ดเพราะวิตามินบีช่วยผลิตเม็ดเลือดและเผาผลาญพลังงาน
         หลอดลม ต้องหมั่นตรวจหลอดลมไก่ชนว่าไม่เป็นโรคคอดอกหรือหลอดลมอักเสบ โรคคอดอกเกิดจากเชื้อโปรโตซัวชื่อ Trichomonas gallinae(ทริโคโมนาส กัลลิแน)ก็รักษาโดยให้ยาเมโทรนิดาโซล ครั้งละครึ่งเม็ดให้กินเช้าเย็นติดต่อกัน 7-10 วัน หาซื้อได้ตามร้านขายยาคนเม็ดละ 1 บาทเท่านั้น ส่วนหลอดลมที่อักเสบ คอดัง คอครอกก็ให้ยาพวกไซโปรฟล็อกซาซินหรือออฟฟล็อกซาซินให้กินติดต่อกันครั้งละครึ่งเม็ดเช้า-เย็น กิน 5 วัน
         ส่วนระหว่างการชนหากมีอาการหอบคนสมัยก่อนมักจะให้ดินเหนียวกินซึ่งมีการทดลองทำแล้วก็ไม่ปรากฏผลว่าเป็นอย่างไร แต่ถ้าจะให้ต้องระวังดินสกปรกไก่ชนอาจติดเชื้อได้เพราะสภาพร่างกายที่อ่อนแอ หลายซุ้มอาจใช้ยาแก้หอบหืดจำพวกยาซาลบูทามอล ยาเทอร์บูทาลีนผสมให้กินก็อาจจะช่วยได้แต่ต้องระวังหากให้เยอะไปไก่อาจน็อคยาได้เพราะยานี้จะไปขยายหลอดลมรวมทั้งกระตุ้นการเต้นของหัวใจมากขึ้นซึ่งถ้าเป็นการแข่งกีฬาสากลเขาห้ามใช้เด็ดขาดแต่สำหรับไก่คงไม่ได้ห้ามเอาไว้